ข่าวประชาสัมพันธ์
ไข้เลือดออก โรคตัวร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะ อันตรายถึงชีวิต !
- วันที่ 12 มิ.ย. 2566
- อ่าน 1,276 ครั้ง
ไข้เลือดออก โรคตัวร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะ อันตรายถึงชีวิต !
ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากยุงซึ่งเป็นพาหะของโรค ไข้เลือดออกนอกจากจะเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้น และก่อให้เกิดความกังวลต่อผู้ปกครองเวลาเด็กมีไข้ และมักพบบ่อยในเด็กต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2-8 ขวบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่จะไม่มีโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกได้ โดยเฉพาะต้องอาศัยอยู่ในแหล่งที่ชุกชุมไปด้วยยุงตัวร้าย
โรคไข้เลือดออกต้องระวังยุงชนิดไหน
ยุงลายเป็นพาหะตัวร้ายของ โรคไข้เลือดออก ทางที่ดีที่จะป้องกันโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้น
คือการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างไม่ให้โดนยุงกัด โดยเฉพาะยุงลาย
ถ้ากำจัดลูกน้ำยุงลายบริเวณรอบ ๆ บ้านได้จะยิ่งดี
ยุงลายชอบกัดตอนไหน ช่วงไหนควรระวังพาหะไข้เลือดออก
ยุงลายที่กัดเราแล้วจะทำให้เป็นโรคไข้เลือดออกมีเฉพาะยุงลายตัวเมียเท่านั้น
เพราะยุงลายตัวเมียต้องการโปรตีนจากเลือดเพื่อสร้างไข่
และมักจะออกหาเหยื่อในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน
ฉะนั้นช่วงกลางวันจึงเป็นช่วงเวลาอันตรายที่ต้องเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัดมากที่สุด
แต่ทั้งนี้ช่วงเวลาไหน ๆ ก็อย่ายอมให้ยุงมาดูดเลือดเลยน่าจะปลอดภัยกว่า
อาการของไข้เลือดออก
อาการของ ไข้เลือดออก ไม่จำเพาะอาการมีได้หลายอย่าง ในเด็กอาจจะมีเพียงอาการไข้และผื่น ในผู้ใหญ่ที่เป็น ไข้เลือดออก อาจจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ หากไม่คิดว่าเป็นโรคไข้เลือดออก อาจจะทำให้การรักษาช้า ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิต ทั้งนี้ลักษณะที่สำคัญของ ไข้เลือดออก มีอาการสำคัญ 4 ประการคือ
1. ไข้สูงลอย : ไข้ 39-40 องศาเซลเซียส มักมีหน้าแดง โดยมากไม่ค่อยมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ เด็กโตอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ อาการไข้สูงมักมีระยะ 4-5 วัน
2. อาการเลือดออก : เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ มีจุดเลือดออกตามตัว
3. ตับโต
4. ความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด หรือช็อก : มักจะเกิดช่วงไข้จะลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบปากเขียว อาจมีอาการปวดท้องมาก ก่อนจะมีอาการช็อก ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ
ตับอักเสบจากไข้เลือดออก อีกหนึ่งอาการที่ต้องระวัง
อาการตับอักเสบอย่างรุนแรง สามารถพบได้ในผู้ป่วยไข้เลือดออกเช่นกัน โดยจะเกิดขึ้นกรณีที่เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายตับ หรือเกิดจากการที่ตับถูกทำลายเพราะการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นหากมีอาการไข้เลือดออกแล้วก็ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากเกิดอาการตับอักเสบจะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที
ลักษณะตุ่มไข้เลือดออก
ตุ่มโรคไข้เลือดออกจะคล้ายกับตุ่มยุงกัดทั่วตัว
และใกล้เคียงกับผื่นจากโรคหัด แต่จะสังเกตได้ว่า
ถ้าเป็นไข้เลือดออกจะไม่มีอาการไอหรือน้ำมูกไหล
และจุดเลือดออกของโรคไข้เลือดออกจะไม่รู้สึกสากมือเหมือนโรคหัด
และเวลากดดึงผิวหนังให้ตึงจะไม่จางหายไปเหมือนจุดถูกยุงกัดธรรมดา
ซึ่งถ้ามีอาการตามนี้ร่วมกับมีไข้สูงตลอดเวลา ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน
ไข้เลือดออกมีกี่ระยะ
ระยะฟักตัวของไข้เลือดออกจะอยู่ในช่วง 3-5 วัน และอาการไข้เลือดออกสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ไข้จะสูงค้างอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา
โดยที่กินยาลดไข้ก็ยังบรรเทาไข้ไม่ได้ ร่วมกับอาการหน้าแดง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร
และบางรายมีอาการอาเจียนเป็นพัก ๆ หรืออาจมีอาการท้องผูกหรือถ่ายเหลว
และบางคนอาจมีอาการเจ็บคอ ไอเล็กน้อย ทว่าในระยะ 3 วันที่ป่วยตุ่มอาจยังไม่ขึ้นให้เห็นชัด ๆ
ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก
อาการนี้จะพบในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ของการป่วย
และมักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ป่วยจากเชื้อเด งกีที่มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ 4 ซึ่งระยะนี้ถือเป็นช่วงวิกฤตของโรค
อาการไข้ของผู้ป่วยจะเริ่มลดลง แต่กลับอาเจียน ปวดท้องบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น ตัวเย็น
มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย เหงื่อแตก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นแผ่วแต่เร็ว
และความดันต่ำ ซึ่งเป็นภาวะช็อก และหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 1-2 วัน อาจทำให้เสียชีวิตได้
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง
(มีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้น) เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดหรือสีกาแฟ ถ่ายเป็นเลือด
ซึ่งหากอยู่ในภาวะนี้อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น
โดยหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเสียชีวิตภายใน 24-27 ชั่วโมง
แต่หากผู้ป่วยสามารถประคองอาการให้ผ่านพ้นระยะนี้มาได้ ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรคไข้เลือดออก
ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว
ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการช็อก หรือช็อกไม่รุนแรง
และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการของผู้ป่วยจะฟื้นตัวสู่สภาพปกติ
โดยผู้ป่วยจะรู้สึกตัวและร่าเริงขึ้น เริ่มกินอาหารได้
โดยอาการจะดีขึ้นตามลำดับภายในช่วงระยะ 7-10 วันหลังจากผ่านพ้นระยะที่ 2 ของโรค
การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้นอย่างง่าย
ๆ
ใช้ยางหนังสติ๊กรัดเหนือข้อศอกให้แน่นเล็กน้อย
ให้พอคลำชีพจรที่ข้อมือได้ รัดอยู่อย่างนั้นนาน 5 นาที และลองเอาเหรียญบาทกดทับที่บริเวณท้องแขน
หากพบว่ามีจุดเลือดออก (จุดแดง)
เกิดขึ้นที่บริเวณท้องแขนในตําแหน่งที่ใช้เหรียญกดทับเป็นจํานวนมากกว่า 10 จุด ก็นับว่าเสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออกสูงมาก
ยิ่งถ้าหากมีไข้มาแล้ว 2 วัน
ความเสี่ยงของโรคจะอยู่ประมาณ 80% เลยทีเดียว
เมื่อใดต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที
- เมื่อมีเลือดออกผิดปกติ อาเจียนมาก ปวดท้อง ซึม
ไม่ดื่มน้ำ กระหายน้ำตลอดเวลา มีปัสสาวะออกน้อย
- เมื่อความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง กระสับกระส่าย
มือเท้าเย็น ตัวลาย เหงื่อออกโดยเฉพาะในช่วงไข้ลง
แนวทางการรักษาโรค
ไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก ไม่มีการรักษาเฉพาะ
การรักษาเป็นเพียงการประคับประคองอย่างใกล้ชิดโดยการเฝ้าระวังภาวะช็อก และเลือดออก
และการให้สารน้ำอย่างเหมาะสมก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง
โดยทั่วไปการดูแลผู้ป่วยโรค ไข้เลือดออก มีแนวทางการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนี้
1. ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้ที่ควรใช้คือ
พาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาจำพวกแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกล็ดเลือดผิดปกติ
และระคายกระเพาะอาหาร
2. ให้สารน้ำชดเชย
เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออกมักมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน
ในรายที่พอกินได้ให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ ในรายที่ขาดน้ำมาก หรือมีภาวะเลือดออก
เช่น อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือดต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
เพื่อให้สารน้ำทางเส้นเลือด
3. ติดตามดูอาการใกล้ชิด
ถ้าผู้ป่วยไข้เลือดออกมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น
โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
4. ตรวจนับจำนวนเกล็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะ
เพื่อใช้พิจารณาปริมาณการให้สารน้ำชดเชย
จะทราบได้อย่างไรว่าผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้ว
ผู้ป่วยไข้เลือดออก หากมีอาการไข้ลดลง ภายใน 24-48 ชั่วโมง แล้วเริ่มกินอะไรได้ รู้สึกตัวดี ไม่ซึม
แสดงว่าอาการพ้นขีดอันตรายแล้ว
การปฏิบัติเมื่อมีคนในบ้าน/ข้างบ้านเป็น
ไข้เลือดออก
เนื่องจากไข้เลือดออกระบาดโดยมียุงเป็นตัวแพร่พันธุ์
ดังนั้นเมื่อมีคนในบ้านหรือข้างบ้านเป็นไข้เลือดออก ควรจะบอกคนในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีคนเป็นไข้เลือดออกด้วย
และแจ้งสาธารณสุขให้มาฉีดยาหมอกควันเพื่อฆ่ายุง
รวมถึงดูแลให้สมาชิกในครอบครัวป้องกันการถูกยุงกัด สำรวจภายในบ้าน รอบบ้าน
รวมทั้งเพื่อนบ้านว่ามีแหล่งแพร่พันธุ์ยุงหรือไม่ หากมีให้รีบจัดการและทำลายแหล่งแพร่พันธุ์นั้น
เพื่อป้องกันการเป็นไข้เลือดออก
นอกจากนี้ต้องคอยระวังเฝ้าดูอาการของสมาชิกในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้หรือไม่
หากมีไข้ให้ระวังว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออกได้
โรคไข้เลือดออก
กับยาที่ควรหลีกเลี่ยง
ในการรักษาของผู้ป่วยไข้เลือดออกควรจะใช้ยาพาราเซตามอลในการรักษาเท่านั้น
และห้ามรับประทานยาในกลุ่มแอสไพริน ซึ่งได้แก่ ยาแอสไพรินชนิดเม็ด
หรือยาแอสไพรินแบบซองที่ขายทั่วไป และยาในกลุ่มไอบูโปรเฟน
เนื่องจากยาทั้งสองชนิดนี้เป็นยาที่มีผลข้างเคียงรุนแรง คืออาจไปกัดกระเพาะทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะหรือลำไส้
ซึ่งทำให้เป็นอันตรายกับผู้ป่วยได้
อาหารสำหรับผู้ป่วยไข้เลือดออก เป็นแล้วควรกินอะไร
ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสและฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็ว
โดยอาหารที่ควรรับประทานคือ ผักใบเขียว ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น มะนาว ส้ม
เลมอน หรือเกรปฟรุต เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น
และควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงด้วย
เพื่อให้มีเรี่ยวแรงและสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดี
นอกจากนี้อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย
เช่น โจ๊ก น้ำผัก หรือน้ำผลไม้ แต่ทั้งนี้ที่สำคัญที่สุดก็คือการดื่มน้ำ
เพราะการดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยให้ร่างกายขับสารพิษออกมาได้มากขึ้นนั่นเอง
ไข้เลือดออกห้ามกินอะไรบ้าง รู้แล้ว เลี่ยงให้ไกล
นอกจากจะควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ แล้ว
ผู้ป่วยไข้เลือดออกนั้นก็ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ ประเภทอาหารทอด หรือผัด
และไม่ควรรับประทานอาหารรสเผ็ด
เพราะอาจจะทำให้แสบท้องและเกิดเลือดออกในกระเพาะได้ง่าย
นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีแดง สีดำ หรือสีน้ำตาล เพราะสีของอาหารอาจจะทำให้การสังเกตอาการเลือดออกในปัสสาวะและอุจจาระเป็นไปได้ยากขึ้นอีกด้วย
เป็นไข้เลือดออกแล้วมีสิทธิ์เป็นซ้ำอีกได้ไหม
เนื่องจากไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งในแต่ละปีจะมีการระบาดของสายพันธุ์ต่าง ๆ สลับกันไป
หากผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ใดไปแล้ว
ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต
และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันข้ามไปยังสายพันธุ์อื่นได้ระยะหนึ่ง
ก่อนภูมิคุ้มกันในสายพันธุ์อื่นจะหายไป ดังนั้น
ผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นได้อีกในสายพันธุ์ที่ต่างจากที่เคยเป็น
แต่ทว่าการติดเชื้อครั้งที่ 2 มักจะมีอาการรุนแรงกว่าการป่วยครั้งแรก
แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคนเรามักติดเชื้อไม่เกิน 2 ครั้ง
การป้องกันโรค ไข้เลือดออก
ทุกวันนี้ยังไม่มียาที่ใช้รักษา ไข้เลือดออก
ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดโดยป้องกันการแพร่ของยุง
การควบคุมสิ่งแวดล้อม (Environmental management)
การควบคุมสิ่งแวดล้อมเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้ยุงมีการขยายพันธุ์
- แท็งก์น้ำ บ่อ กะละมัง
ที่เก็บกักน้ำจะเป็นแหล่งที่ยุงออกไข่และกลายเป็นยุง
ต้องมีฝาปิดและหมั่นตรวจสอบว่ามีลูกน้ำหรือไม่
- ให้ตรวจรอยรั่วของท่อน้ำ
แท็งก์น้ำหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับน้ำว่ารั่วหรือไม่ โดยเฉพาะฤดูฝน
- ตรวจสอบแจกัน ถ้วยรองขาโต๊ะ
ต้องเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ สำหรับแจกันอาจจะใส่ทรายผสมลงไป
ส่วนถ้วยรองขาโต๊ะให้ใส่เกลือเพื่อป้องกันลูกน้ำ
- หมั่นตรวจสอบถาดรองน้ำที่ตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศเพราะเป็นที่แพร่พันธุ์ของยุง
โดยเฉพาะถาดระบายน้ำของเครื่องปรับอากาศซึ่งออกแบบไม่ดี
โดยรูระบายน้ำอยู่เหนือก้นถาดหลายเซนติเมตร
ทำให้มีน้ำขังซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- ตรวจสอบรอบ ๆ บ้านว่ามีแหล่งน้ำขังหรือไม่
ท่อระบายน้ำบนหลังคามีแอ่งขังน้ำหรือไม่ หากมีต้องจัดการ
- ขวดน้ำ กระป๋อง หรือภาชนะอื่นที่อาจจะเก็บขังน้ำ
หากไม่ใช้ให้ใส่ถุงหรือฝังดินเพื่อไม่ให้น้ำขัง
- ยางเก่าที่ไม่ใช้ก็เป็นแหล่งขังน้ำได้เช่นกัน
- หากใครมีรั้วไม้ หรือต้นไม้ที่มีรูกลวง
ให้นำคอนกรีตเทใส่ปิดรู ต้นไผ่ต้องตัดตรงข้อและให้เทคอนกรีตปิดแอ่งน้ำ
การป้องกันส่วนบุคคล
- ใส่เสื้อผ้าที่หนาพอสมควร ควรจะใส่เสื้อแขนยาว
และกางเกงขายาว เด็กนักเรียนหญิงก็ควรใส่กางเกง
- การใช้ยาฆ่ายุง เช่น Pyrethrum ก้อนสารเคมี
- การใช้กลิ่นกันยุง เช่น ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่น ๆ
- นอนในมุ้ง
- การควบคุมยุงโดยทางชีวะ
- เลี้ยงปลาในอ่างที่ปลูกต้นไม้
หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
- ใช้แบคทีเรียที่ผลิตสาร Toxin ฆ่ายุง ได้แก่ เชื้อ Bacillus thuringiensis serotype
H-14 (Bt.H-14) และ Bacillus
sphaericus (Bs)
- การใช้เครื่องมือดักจับลูกน้ำซึ่งเคยใช้ได้ผลที่สนามบินของสิงคโปร์
แต่สำหรับกรณีประเทศไทยยังได้ผลไม่ดีเนื่องจากไม่สามารถควบคุมแหล่งน้ำธรรมชาติจึงยังมีการแพร่พันธุ์ของยุง
การใช้สารเคมีในการควบคุม
- ใช้ยาฆ่าลูกน้ำ
วิธีการนี้จะสิ้นเปลืองและไม่เหมาะที่จะใช้อย่างต่อเนื่อง
วิธีการนี้จะเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดและได้มีการสำรวจพบว่ามีความชุกของยุงมากกว่าปกติ
- ใช้สารลดแรงตึงผิว เช่น ผงซักฟอก สบู่ แชมพู
น้ำยาล้างจาน ฉีดพ่นกำจัดยุง เพราะสารดังกล่าวจะไปทำลายระบบการหายใจของแมลง
ทำให้แมลงตายได้
- ใช้ "ทรายอะเบท" กำจัดยุงลาย
โดยให้นำทรายอะเบท 1 กรัม ใส่ในภาชนะที่มีน้ำขัง
(อัตราส่วน 1 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร หรือ 20 กรัม) จะป้องกันไม่ให้เกิดลูกน้ำได้นานประมาณ 1-2 เดือนเลยทีเดียว
ซึ่งหลังจากใช้เสร็จแล้วต้องเก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดมิดชิด รวมทั้งเก็บในที่เย็น
แห้ง และมีการระบายอากาศอย่างเพียงพอ
- การใช้สารเคมีพ่นตามบ้านเพื่อฆ่ายุง
วิธีการนี้ใช้ในประเทศเอเชียหลายประเทศมามากกว่า 20 ปี แต่จากสถิติของการระบาดไม่ได้ลดลงเลย การพ่นหมอกควันเป็นรูปธรรมที่มองเห็นว่ารัฐบาลได้ทำอะไรเกี่ยวกับการระบาด
แต่การพ่นหมอกควันไม่ได้ลดจำนวนประชากรของยุง ข้อเสียคือทำให้คนละเลยความปลอดภัย
การพ่นหมอกควันจะมีประโยชน์ในกรณีที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก
การระบาดของไข้เลือดออก
ช่วงเวลาการระบาดของโรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ตลอดทั้งปี
แต่จะระบาดมากในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ของทุกปี
หากใครมีข้อสงสัย
หรือต้องการปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องโรคไข้เลือดออก สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) หมายเลขโทรศัพท์ 1415 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา - https://health.kapook.com